เตรียมความพร้อมอีกรอบ สำหรับ 6 สิงหา 2552

ปกติทีมงานไม่ค่อยได้ลงพื้นที่ในวันเสาร์อาทิตย์บ่อยนัก ยิ่งทางศูนย์วิชาการแล้ว ในระยะหลังๆนี้ ปล่อยให้กลไกการขับเคลื่อนผ่านทางอาสาสมัครอาชีวอนามัยชุมชนเป็นส่วนใหญ่ จึงเรียกได้ว่าห่างเหินกับการไปราชบุรีในวันสุดสัปดาห์มานาน แต่ในวันที่อาทิตย์ ที่ 26 กรกฏาคม 2552 ที่ผ่านมา มีการประชุมเตรียมความพร้อมสำหรับการนำเสนองานสำหรับคณะกรรมการบริหารซึ่งจะลงเยี่ยมพื้นที่ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2552 ที่จะถึง

ในช่วงเช้าและต่อบ่ายอีก 1 ชั่วโมง จะเป็นการเตรียมพร้อม พวกเราได้ปรึกษาหารือเรื่องเนื้อหาที่จะนำเสนอ การวางรูปแบบการนำเสนอ ผังการจัดห้องประชุมซึ่งจะมีนิทรรศการ รวมถึงการสาธิตนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัย การตรวจเยี่ยมกลุ่มผู้ผลิตตุ๊กตา และกลุ่มผู้ผลิตปลาหวาน ไม่รู้ว่าจะแน่นเกินไปหรือเปล่า ทีมงานเตรียมความพร้อมเรื่องอาหารและอาหารว่าง กลุ่มอสอช. ละเอียดถึงอาหารที่จะนำเสนอ อันจะบอกถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น

แบบนี้เล่าประวัติศาสตร์สักนิดท่าจะดี ป้าติ๋มและเพื่อนๆ จะทำแกงนางหวาน หรือมีชื่อเล่นว่าแกงบอน ป้าติ่มเป็นอสอช. นำพาเพื่อนๆ ทำอาหารในวันนั้น ในหมู่บ้านของป้าติ๋ม ถ้าอาจารย์สราจำไม่ผิดคือ หมู่ 9 ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ประวัติดั้งเดิมคนคนในละแวกนี้ มีเชื้อสาย ลาวเวียง เป็นคำย่ออีก มาจากคำว่า เวียงจันทน์ ในประวัติศาสตร์ได้อพยพมาอยู่ประเทศไทย และราชบุรีจะเป็นเส้นทางการเดินทางของประชาชนเชื้อสายลาวที่อพยพในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนใหญ่ของชาวลาวที่อพยพมาอยู่ในแถบบ้านเลือกนี้ เป็นกลุ่มลาวจากเวียงจันทน์ สิ่งหนึ่งที่จะบอกถึงชาติกำเนิดคือ อาหารการกินดั้งเดิมซึ่งถ่ายทอดสืบกันมา ในปีที่ผ่านมา อาจารย์สราอยู่ติดกับพื้นที่ จึงได้มีโอกาสชิมอาหารดั้งเดิมหลายชนิด เป็นบุญเหลือเกิน ต้องขอบคุณป้าติ๋ม

ในวันที่เราประชุมเตรียมความพร้อม ป้าติ๋มก็กรุณาทำแกงนางหวานมาให้ อาจารย์สราขูดถ้วยเลย หมดเกลี้ยง

เข้าเรื่องงานวันที่ 6 ต่อ ในวันนั้น ทีมทำงานทุกคน ซึ่งแน่นอนที่สุดรวมถึงกลุ่มเป้าหมายคือแรงงานนอกระบบ เตรียมพร้อมที่จะนำเสนอข้อมูล ความเป็นไปเป็นมา ต่อทีมคณะกรรมผู้บริหาร ด้วยความตั้งใจ

หลังจากประชุมเตรียมความพร้อมเสร็จ อาจารย์สรา มีอีกสองงานคือ งานที่คุณแพทฝากไว้ 1 เรื่อง คือ ศักยภาพความพร้อมของอสอช. และงานของศูนย์วิชาการเองคือ การศึกษาต้นทุนอาชีวอนามัย ซึ่งบ่ายแก่ๆ ของวันนี้ อาจารย์สรานัดกลุ่มเกษตรกร ขอเก็บข้อมูลเพิ่มเติม

งานที่ 1 อสอช. ได้มีการเรียนรู้ว่า นอกจากตนเองจะมีความสามารถ รู้และเข้าใจเนื้อหา ความเสี่ยงในขั้นตอนอาชีพ สามารถถ่ายทอดให้กลุ่มอื่นได้แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำ คือ กิจกรรมการติดตามกลุ่มที่ตนเองได้ถ่ายทอดความรู้ไป

หากท่านผู้สนใจท่านใดต้องการนำหลักสูตรอสอช.ไปใช้ในพื้นที่ สิ่งที่ต้องจัดให้มีคือ การเยี่ยมกลุ่ม เหมือนกับ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานตรวจเยี่ยมหน่วยผลิต หรือทางภาษาที่เขามักนิยมใช้คือ ลง line อยู่ใน line เช่นเดียวกัน อสอช. ก็ต้องเยี่ยมกลุ่ม ปรึกษาหารือ ทักทาย ติดตาม และที่สำคัญคือ ต้องไม่ใช้แนวคิดของการตรวจตรา (investigation)  แต่ต้องใช้แนวคิด ร่วมคิดร่วมทำ (participatory approach) การทำงานอาชีวอนามัยในพื้นที่ ในกลุ่มแรงงานนอกระบบจะใช้วิธีการนี้ ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับบริบท สังคม วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนในชุมชน

 

สำหรับงานที่ 2 วันนี้มีเกษตรกร มาให้ข้อมูลอาจารย์เพิ่มเติม 5 คน แต่อาจารย์ก็ได้ส่งข่าวไปว่า ยังไม่ปิดโหวตค่ะ อยากให้มาให้ข้อมูลต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ถ้าเราได้ข้อมูลครบถ้วน ข้อมูลชุดนี้จะเป็นข้อมูลต้นทุนอาชีวอนามัยชุดแรกที่มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ของประเทศไทยกันเลยทีเดียว

 

รศ.ดร. สรา อาภรณ์

ศูนย์วิชาการแรงงานนอกระบบ ภาคกลาง

ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์

มหาวิทยาลัยมหิดล

 

26072009991

คุณแพท ชัฏสรวง และหมอนิคม พุทธา

 

26072009994

น้องสวน อัษฏาวุธ และหมอนิคมอีกครั้ง

อาจารย์เพิ่งสังเกตว่า ชื่อจริงของทีมงานพวกเรา ไม่ธรรมดาทั้งนั้นเลย

 

26072009997

ป้านวล ผู้พันสนานและลุงเสริม